หลวงปู่ แหวน สุจิณฺโณ
( ๒๔๓๐ -๒๕๒๘ )
วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
     
 
นามเดิม
 
ญาณ หรือ ยาน รามศิริ
 
เกิด
 
วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๐ วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน
 
 
บ้านเกิด
 
บ้านนาโป่ง บ้างก็ว่า บ้านหนองบอน ตำบลหนองใน (ปัจจุบัน เป็น ตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย
 
 
บิดามารดา
 
นายใส หรือสาย กับ นางแก้ว รามศิริ ตระกูลช่างตีเหล็ก
 
พี่น้อง
 
เป็นบุตรคนที่ ๒ ในพี่น้อง ๒ คน
 
บรรพชา
 
พ.ศ. ๒๔๓๙ อายุ ๙ ปี ที่วัดโพธิ์ชัย บ้าน นาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีพระอาจารย์คำมา
 
 
เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระ อาจารย์อ้วน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เป็นพระพี่เลี้ยง
 
อุปสมบท
 
พ.ศ. ๒๔๕๑ (มหานิกาย)ที่วัดสร้างก่อนอก อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระอาจารย์แว่น
 
 
เป็นพระอุปัชฌาย์ ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี ๒๔๗๐ โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์
 
เรื่องราวในชีวิต
 
เมื่ออายุ ๕ ขวบ ก่อนที่มารดาจะเสียชีวิต ได้เรียกไปสั่งเสียว่า "ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ จะเป็นกี่ล้านกี่โกฏิก็ตาม
 
แม่ก็ไม่ยินดี และแม่จะยินดีมาก ถ้าลูกจะบวชให้แม่จนตายในผ้าเหลือง ไม่ต้องสึก ออกมามีเมีย นะลูกนะ" ท่านจึงอยู่ในความดูแลของตากับยายขุนแก้ว เมื่อเป็นบวชสามเณรเนื่องจากวัดโพธิ์ชัยไม่มีการศึกษาเล่าเรียนเพราะขาดครูสอน ท่านจึงอยู่ตามสบายคือ สวดมนต์ไหว้พระบ้างเล่นบ้างตามประสาเด็ก ต่อมาได้ถูกส่งไปเรียนมูลกัจจายน์ ที่ วัดสร้างก่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี จนครบอุปสมบท ต่อมาครูบาอาจารย์ที่สอนได้พากันสึกหมดท่านจึงคิดว่า บรรดาครูอาจารย์เหล่านั้น สึกออกไปล้วนเพราะ อำนาจของกามทั้งสิ้น จึงระลึกนึกถึง คำเตือนของแม่และยาย และเกิดความคิดขึ้นมาว่าการออกปฏิบัติ เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้บวชอยู่ได้ตลอดชีวิต เหมือนกับครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้ออกไปปฏิบัติอยู่กันตามป่าเขา ไม่อาลัยอาวรณ์อยู่กับหมู่คณะ จึงได้ตัดสินใจไปหาครูบาอาจารย์
ท่านจึงเดินทางไปพบหลวงปู่มั่น ด้วยได้ยินกิตติศัพท์ ที่บ้านดงมะไฟ ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี คำแรกที่หลวงปู่มั่นสั่งสอนก็คือ "ต่อไปนี้ให้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมา ให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน" ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกยินดีมาก ท่านได้จาริกธุดงค์ไปทางภาคเหนือและพม่าระหว่างนั้นได้พบหลวงปู่ขาวที่ถ้ำแก่งหลวง ลำปางจึงชักชวนกันไปหาหลวงปู่มั่น ที่บ้านป่าเมี่ยง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเชียงดาวกับหลวงปู่มั่นและหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ซึ่งเป็นพระสหายของท่าน นับตั้งแต่ท่านขึ้นไปภาคเหนือแล้ว ก็ไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย ท่านเคยพำนักอยู่บนดอยสูงกับชาวเขาเกือบทุกเผ่าที่อยู่ในป่าเขาภาคเหนือตอนบน ในปี พ.ศ.๒๕๐๕พระอาจารย์หนู สุจิตฺโต ได้นิมนต์ท่านให้ไปรักษาโรคและอยู่ด้วยกันที่วัดดอยแม่ปั๋ง จึงนับได้ว่า วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นสถานที่ซึ่ง หลวงปู่อยู่จำพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ จนเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในฐานะพระผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงและเผยแพร่คำสอนอย่างลึกซึ้งจวบจนมรณภาพ
มรณภาพ
 
วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ที่โรงพยาบาลมหาราช อายุ ๙๘ ปี
ข้อมูลพิเศษ
 
* บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แหวน
ธรรมโอวาท
 
“...การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง หาก พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง
 

ก็ถอนได้และกามกิเลสนี้แหละ เป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่ากันตาย ชิงดีชิงเด่น กิเลสตัวเดียว ทำให้มีการต่อสู้ แย่งชิงกัน ทั้งความรักความชัง จะเกิดขึ้นในจิตใจก็เพราะกาม...”


“...นักปฏิบัติต้องเอาให้หนักกว่าธรรมดา ทำใจของตนให้แน่วแน่ มันจะไปสงสัยที่ไหน ก็ของเก่า ปรุงแต่งขึ้นเป็นความพอใจไม่พอใจ มันเกิดมันดับอยู่นี่ ไม่รู้เท่าทันมัน ถ้ารู้เท่า ทันมัน ก็ดับไป ถ้า จี้มันอยู่อย่างนี้ มันก็ค่อยลดกำลังไป ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน…”


“...ความเกิดมีแล้ว ความแก่ ความตายมันก็มีอยู่ ไม่มีใครพ้นตาย เกิดก็เกิดเต็มแผ่นดิน ตายก็ตายเต็มแผ่นดินอยู่เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่นี้แหละ ความตายเต็มแผ่นดินอยู่ เป็นเป็ด ไก่ หมู หมา เขาก็ตาย มนุษย์ชายหญิงก็ตายใครล่ะ เกิดมาแล้วไม่ตาย ถ้าเกิดมาขวางโลกเขา เกิดมาแล้วไม่ตาย ไม่เฒ่า ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ขวางบ้าน ขวางแผ่นดิน ขวางโลกเขาอยู่ได้อย่างไร ให้ภาวนา-มรณานุสสติอยู่อย่างนี้แหละ…”


“...ความดีนั้นเราต้องทำอยู่เสมอให้เป็นที่อยู่ของจิต เป็นอารมณ์ของจิต ให้เป็นมรรค คือ ทางดำเนินไปของจิต มันจึงจะเห็นผลของความดี ไม่ใช่เวลาใกล้จะตาย จึงนิมนต์พระไปให้ศีล ให้ไปบอกพุทโธ หรือตายไปแล้วให้ไปรับศีล เช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดทั้งหมด...”

   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐